ลอนดอน, 30 ตุลาคม 2567 /PRNewswire/ — วันนี้มีการเปิดตัวรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report: ETR) ฉบับที่ 5 จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก รายงานฉบับนี้สรุปว่า หากไม่มีการดำเนินการระหว่างประเทศร่วมกัน ปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะเพิ่มความตึงเครียดทางสังคมและความขัดแย้งทั่วโลก และปัญหาเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นอีกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการค้นพบที่สำคัญ:

  • ภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมกำลังรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตของประชากร และความขัดแย้ง โดยมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความยากจน และการเกิดความขัดแย้ง
  • มีประเทศต่าง ๆ 50 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรรวม 1.3 พันล้านคน กำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่อระบบนิเวศในระดับสูงหรือสูงมาก คาดว่าประชากรในประเทศเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเกือบถึง 2 พันล้านคนภายในปี 2593
  • รายงาน ETR ระบุชี้ว่ามี 27 ประเทศที่เป็น “พื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางระบบนิเวศสูง” (ecological hotspots) ซึ่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรงมาบรรจบกับความเปราะบางทางสังคม ทำให้ประเทศเหล่านี้เสี่ยงต่อความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง และวิกฤตด้านมนุษยธรรม
  • ในจำนวนของ 27 ประเทศที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง มี 19 ประเทศอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (sub-Saharan Africa) และอีก 4 ประเทศอยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หลายประเทศกำลังประสบกับความขัดแย้งหรือความไม่สงบภายในประเทศ
  • การป้องกันความขัดแย้งในชุมชนเกษตรและเลี้ยงสัตว์จะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแนวทางที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนมักประสบความสำเร็จกว่าการแทรกแซงจากภายนอก
  • ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีอัตราการชลประทานต่ำที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 1.8% ที่ได้รับการชลประทาน มีโอกาสมากมายในการบรรเทาความกดดันทางสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการบริหารจัดการและเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น
  • การลงทุนประจำปีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในโครงการริเริ่มเพื่อปรับปรุงการกักเก็บน้ำและการเกษตรจนถึงปี 2593 อาจเพิ่มการผลิตอาหารในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราได้ถึง 50%

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศปี 2567 ครอบคลุม 207 ประเทศ และเน้นถึงวิกฤตที่กำลังขยายตัวทั่วโลก เนื่องจากที่ภัยคุกคามทางระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกครองที่ด้อยประสิทธิภาพ การเติบโตของประชากร และความขัดแย้งกำลังมาบรรจบกัน รายงานฉบับนี้ระบุว่ามี 50 ประเทศซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 1.3 พันล้านคนที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศในระดับสูงหรือสูงมาก ประเทศเหล่านี้ ซึ่ง 82% อยู่ในแอฟริกา คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 51% ภายในปี 2593

ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเป็นพื้นที่ที่น่ากังวลเป็นพิเศษ ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรงเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชากร 68 ล้านคน หรือ 17% ของประชากรในภูมิภาค ภัยแล้งซึ่งเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2567 ส่งผลกระทบกับการผลิตพืชผลและปศุสัตว์ ก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารและทำลายเศรษฐกิจในวงกว้าง ราคาสินค้าอาหารสูงขึ้น 25% จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงอาหารยิ่งยากลำบากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคแห่งนี้มีศักยภาพสูงสุดในการเพิ่มกำลังการผลิตอาหาร ตัวอย่างเช่น ผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ยในแอฟริกาคือ 1.9 ตันต่อเฮกตาร์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 5.4 ตัน นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังมีที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ถึง 200 ล้านเฮกตาร์ หากมีการใช้เทคนิคแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กและใช้แนวทางทำการเกษตรที่ปรับปรุงดีขึ้น ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราก็จะสามารถเพิ่มความสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่สภาพปกติและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารได้อย่างสูง

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของสถาบัน IEP กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งภัยคุกคามทางระบบนิเวศเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง ความยากจน และหนี้สินเพิ่มมากขึ้น การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าการลงทุนที่มุ่งเป้าหมายไปที่การเก็บกักน้ำและการเกษตรสามารถปรับปรุงความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มความสามารถฟื้นตัวในท้องถิ่น ลดความขัดแย้ง และบรรเทาปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานโดยถูกบังคับ

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางนิเวศวิทยาสูง

รายงาน ETR ระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางนิเวศวิทยา 27 แห่ง ได้แก่ ประเทศที่มีความเสี่ยงทางระบบนิเวศสูงที่มาบรรจบกับความเปราะบางทางสังคม ประเทศเหล่านี้เผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่อาจเกิดความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง และวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้มีความไม่สม่ำเสมอสูง เนื่องจากมี 19 แห่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา 4 แห่งอยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และที่เหลืออีก 4 แห่งกระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียและแคริบเบียน

  • ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่รุนแรงที่สุด โดยมีความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับสูง ความเครียดน้ำ (water stress) และการเติบโตของประชากรที่รวดเร็วเป็นตัวผลักดัน
  • ภูมิภาคเอเชียใต้มีคะแนน ETR รวมสูงที่สุดเป็นอันดับสอง ซึ่งเป็นผลมาจากความเปราะบางต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งสูงที่สุดในทุกภูมิภาค
  • ยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นเพียงสองภูมิภาคที่ไม่มีพื้นที่ย่อยในระดับต่ำกว่าประเทศกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศในระดับสูงหรือสูงมาก

ประเทศที่เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงมักจะอยู่กระจุกตัวในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงระดับภูมิภาค เนื่องจากวิกฤตการณ์ด้านระบบนิเวศและมนุษยธรรมจะครอบคลุมหลายประเทศ ผลกระทบจากปัญหาที่ลุกลามแพร่กระจาย ได้แก่ การย้ายถิ่นของประชากร ความขัดแย้งข้ามพรมแดนครั้งใหม่ และการหยุดชะงักของเครือข่ายการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน

ความรุนแรงของสถานการณ์นี้ถูกเน้นด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าหลายประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยงกำลังเผชิญกับความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธหรือความไม่สงบภายในอยู่ในปัจจุบัน โดยตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ความสามารถฟื้นตัวได้ที่ต่ำ และความเสี่ยงต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ผลกระทบที่สะสมจากการเติบโตของประชากร การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และระบบการปกครองที่อ่อนแออาจส่งผลให้เกิดวงจรของความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเกิดความขัดแย้งอยู่ก่อนแล้ว

การปกครองและการจัดการน้ำ

ความเสี่ยงด้านน้ำเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการปกครองที่อ่อนแอมากกว่าการขาดแคลนน้ำ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความเสี่ยงด้านน้ำต่ำแม้ว่าจะมีทรัพยากรจำกัด ขณะที่เยเมนซึ่งมีทรัพยากรน้ำมากกว่ากลับเผชิญกับความเสี่ยงสูง รายงานฉบับนี้ระบุว่า การลงทุนประจำปี 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในโครงการกักเก็บน้ำขนาดเล็กและการริเริ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถบรรเทาภัยคุกคามทางระบบนิเวศในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราได้อย่างมาก พร้อมทั้งมีศักยภาพที่จะสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้ถึง 3 เท่าในบางพื้นที่ นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เนื่องจากภูมิภาคนี้จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตธัญพืชมากกว่าสองเท่าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการอาหารขั้นพื้นฐานในช่วงระยะเวลา 25 ปีข้างหน้า

รายงาน ETR ยังระบุวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะในด้านการจัดการน้ำและการเกษตร ซึ่งสามารถปรับปรุงความมั่นคงทางอาหารและแนวโน้มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เปราะบางได้อย่างมีนัยสำคัญ โครงการเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น เขื่อนทราย การใช้หินควบคุมการไหลของน้ำ (rock runoff) และเขื่อนในแอฟริกาแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่มีศักยภาพ ด้วยเงินลงทุน 50,000 ดอลลาร์ก้อนเดียวก็สามารถจัดหาการชลประทานให้พื้นที่ได้ถึง 9 เฮกตาร์ และให้ผลตอบแทนถึง 180,000 ดอลลาร์ ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีพื้นที่เพาะปลูกที่สามารถจัดหาระบบชลประทานได้ถึง 34.2 ล้านเฮกตาร์ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยใช้น้ำเพียง 6% ของทรัพยากรน้ำหมุนเวียนของภูมิภาคที่มีอยู่

Steve Killelea กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคือรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับการเข้าช่วยเหลือเหล่านี้เพื่อสร้างความสามารถฟื้นตัวได้และป้องกันความขัดแย้งในอนาคต การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้การปกครองท้องถิ่นและกลไกการแก้ไขความขัดแย้งที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการเข้าแทรกแซงจากภายนอก เพื่อลดความตึงเครียดก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นความรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวขยายความเสี่ยงให้ลุกลาม ทำให้ความตึงเครียดที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ที่มีประวัติความขัดแย้ง สถาบันรัฐที่อ่อนแอ และมีความเปราะบาง ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร การขาดแคลนน้ำหรือที่ดินทำกินที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชนต่าง ๆ ได้ ผลกระทบนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในประเทศที่มีสถาบันรัฐที่อ่อนแอ โดยรัฐบาลไม่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศหรือจัดการกับความขัดแย้งที่ตามมาอย่างมีประสิทธิภาพ

ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์ในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคน แสดงให้เห็นรูปแบบที่ความกดดันทางระบบนิเวศสามารถเพิ่มความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และทรัพยากรที่มีอยู่ก่อนให้รุนแรงขึ้น กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติได้ใช้ประโยชน์จากปัญหาเหล่านี้ในการระดมกำลังและขยายความขัดแย้ง ภูมิภาคซาเฮลมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งเกือบ 16% ของอัตราเสียชีวิตจากความขัดแย้งทั้งหมดในแอฟริกา แม้ว่าจะมีประชากรเพียง 6.8% ของทวีปก็ตาม ข้อกังวลสำคัญ คือการบุกรุกของกลุ่มความรุนแรงเหล่านี้เข้าสู่พื้นที่ที่ค่อนข้างสงบสุข เช่น ไอวอรีโคสต์ เบนิน โตโก และไนจีเรีย

ความมั่นคงทางน้ำและอาหาร

ความเสี่ยงด้านน้ำมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการปกครองที่อ่อนแอและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ โดยภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีการใช้น้ำเพียง 2% ของทรัพยากรน้ำที่มีอยู่เพื่อทำการเกษตร เทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกภูมิภาคทั่วโลกที่ 6.7% อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนที่เหมาะสม ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงได้ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 1.8% ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราที่ได้รับน้ำจากการชลประทาน ซึ่งต่ำกว่าหนึ่งในสิบของอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 19%

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชลประทานจะทำให้การใช้น้ำในภาคการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับน้ำจากระบบชลประทานในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจะเพิ่มขึ้น 34% ภายในปี 2573 แต่คาดว่าการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเพียง 14% เท่านั้น

ผลกระทบระดับโลกในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดความเครียดด้านทรัพยากรน้ำในระบบนิเวศที่พึ่งพาธารน้ำแข็งในภูมิภาคเอเชียใต้และอเมริกาใต้ ขณะที่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้ดินเค็มมากขึ้นในพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลกบางแห่ง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นในจีนและอินเดียจะทำให้ยากต่อการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากร 2.8 พันล้านคน นอกจากนี้ยังมีประชากรกว่า 91 ล้านคนที่พึ่งพาลุ่มน้ำแม่น้ำโขงตอนล่างและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์เพื่อการดำรงชีวิต การสร้างเขื่อนต้นน้ำจะส่งผลกระทบต่อการไหลของกระแสน้ำอย่างรุนแรง

ผลกระทบของภัยคุกคามทางระบบนิเวศเหล่านี้จะขยายไปทั่วโลก การขาดแคลนอาหารในพื้นที่หนึ่งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าอาหารและความสามารถหาสินค้าได้ทั่วโลก เนื่องจากลักษณะของห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกัน เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรูปแบบการอพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลก ส่งผลต่อโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง การลงทุนที่เหมาะสมเพื่อการใช้น้ำและที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับการเกษตรจะสามารถบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจ ป้องกันความขัดแย้ง และลดการย้ายถิ่นฐานโดยถูกบังคับได้อย่างมาก

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศประจำปี 2567 โปรดเยี่ยมชม https://visionofhumanity.org และ https://economicsandpeace.org โดยสามารถติดต่อเพื่อขอคลิปวิดีโอและเสียงสำหรับการออกอากาศได้จาก Tim Johnston ด้านล่าง

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP): IEP คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันสำนักงานอยู่ที่ซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก กรุงเฮก เม็กซิโกซิตี้ และไนโรบี

Source : การลงทุนด้านน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.

Sign In

Register

Reset Password

Please enter your username or email address, you will receive a link to create a new password via email.