· เครื่องมือหินบะซอลต์เนื้อละเอียดนี้มีความยาวถึง 51.3 ซม. และคาดว่ามีอายุมากกว่า 200,000 ปี
· อาจเป็น “ขวานหินโบราณ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยหินเก่าตอนต้น-ตอนกลาง
· คณะนักวิจัยของราชกรรมาธิการอัลอูลากำลังเดินหน้าไขปริศนาโบราณต่อไป
อัลอูลา, ซาอุดีอาระเบีย, 7 พฤศจิกายน 2566 /PRNewswire/ — คณะนักวิจัยที่กำลังปฏิบัติงานในเมืองอัลอูลา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ได้ขุดค้นพบสิ่งที่น่าจะเป็น “ขวานหินโบราณ” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และจากการประเมินภาคสนามในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า สิ่งประดิษฐ์ขนาดยักษ์นี้มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยหินเก่าตอนต้น-ตอนกลาง (Lower-Middle Palaeolithic) ด้วยอายุมากกว่า 200,000 ปี
ขวานหินโบราณนี้ถูกค้นพบโดยทีมนักโบราณคดีนานาชาติที่ทำงานร่วมกับราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ภายใต้การนำของ ดร.โอเมอร์ “แคน” อักซอย (Ömer “Can” Aksoy) และ ดร.จีเซม คาห์รามาน อักซอย (Gizem Kahraman Aksoy) จากบริษัท ทีออส เฮอริเทจ (TEOS Heritage) โดยทีมงานได้ทำการสำรวจพื้นที่ทะเลทรายทางตอนใต้ของเมืองอัลอูลาซึ่งเรียกว่า ที่ราบกุรห์ (Qurh Plain) เพื่อค้นหาหลักฐานการทำกิจกรรมของมนุษย์ในสมัยโบราณ
ทีมงานประสบความสำเร็จในการขุดค้นโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนที่คึกคักตั้งแต่ยุคอิสลามตอนต้น และการขุดค้นพบโบราณวัตถุหายากและไม่เหมือนใครนี้จะนำไปสู่การจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซาอุดีอาระเบียและทั่วโลก
ขวานหินโบราณนี้ทำจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีความยาว 51.3 ซม. และผ่านการใช้งานทั้งสองด้านจนมีคมที่ใช้ตัดหรือสับได้ ส่วนจะนำไปใช้งานใดบ้างนั้น ขณะนี้ทีมงานยังได้แต่คาดเดา และแม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ แต่ขวานหินโบราณนี้สามารถถือได้สบายด้วยมือสองข้าง
การสำรวจยังคงดำเนินต่อไป และวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบชิ้นที่คล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่า ทางทีมงานหวังว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจะช่วยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับต้นกำเนิดและการใช้งานวัตถุโบราณเหล่านี้ รวมถึงบุคคลที่สร้างวัตถุเหล่านี้ขึ้นเมื่อหลายแสนปีมาแล้ว
ดร.โอเมอร์ อักซอย ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า “ขวานหินโบราณนี้เป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการสำรวจที่ราบกุรห์ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เครื่องมือหินที่น่าทึ่งนี้มีความยาวมากกว่าครึ่งเมตร (ความยาว 51.3 ซม. ความกว้าง 9.5 ซม. ความหนา 5.7 ซม.) โดยเป็นเครื่องมือหินขนาดใหญ่ที่สุดที่ขุดค้นพบในพื้นที่ และจากการค้นหาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบกับขวานหินโบราณที่ขุดค้นพบทั่วโลก ยังไม่เจอขวานหินโบราณที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าวัตถุโบราณนี้เป็นหนึ่งในขวานหินโบราณที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ”
นอกเหนือจากการสำรวจที่ราบกุรห์แล้ว ปัจจุบัน ราชกรรมาธิการอัลอูลายังดูแลโครงการด้านโบราณคดีอีก 11 โครงการในเมืองอัลอูลาและเมืองเคย์บาร์ (Khaybar) ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งโครงการวิจัยอันยิ่งใหญ่นี้กำลังดำเนินการโดยมีเป้าหมายเพื่อไขความลับของยุคโบราณในภูมิภาคนี้ และการค้นพบที่ไม่ธรรมดาครั้งล่าสุดนี้ตอกย้ำว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในซาอุดีอาระเบีย
โบราณคดีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูเมืองอัลอูลาอย่างครอบคลุม ในฐานะจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกในด้านมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
โครงการด้านโบราณคดี 12 โครงการที่ดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม ถือเป็นการวิจัยและการอนุรักษ์ทางโบราณคดีที่มีความเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยภารกิจนี้จะดำเนินต่อไปพร้อมกับภารกิจเพิ่มเติมในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2567
โครงการที่ดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 เป็นการรวมตัวของนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรมมากกว่า 200 คนจากนานาประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ ซีเรีย ตูนิเซีย ตุรกี และสหราชอาณาจักร โดยหลายโครงการเป็นการต่อยอดการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ และในโอกาสนี้ยังมีการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาโบราณคดีมากกว่า 100 คนในซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของเมืองอัลอูลาในฐานะศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางโบราณคดี โดยการประชุมสุดยอดดังกล่าวดึงดูดผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน จาก 39 ประเทศ และมีการเสวนาแบบสหวิทยาการโดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโบราณคดีกับชุมชนในวงกว้าง
เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา
ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
เกี่ยวกับทีออส เฮอริเทจ
ทีออส เฮอริเทจ (TEOS Heritage) ในเมืองอิซเมียร์ ประเทศตุรกี เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านแหล่งมรดกที่มีความเชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชียตะวันตก บริษัทให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรม พร้อมให้บริการประเมินแหล่งมรดกและสำรวจพื้นที่ โดยมีทักษะความเชี่ยวชาญในด้านงานโบราณคดีภาคสนาม การบันทึกข้อมูลแหล่งมรดก การจัดเตรียมรายงานและสิ่งพิมพ์ รวมถึงกลยุทธ์การจัดการแหล่งมรดก
Photo : https://mma.prnasia.com/media2/2268730/Hand_Axe_In_Situ.jpg?p=medium600
Photo : https://mma.prnasia.com/media2/2268729/Dr_Omer_Aksoy.jp?p=medium600g
Photo : https://mma.prnasia.com/media2/2268731/Hand_Axe_via_Magnifying_Lamp.jpg?p=medium600
Photo : https://mma.prnasia.com/media2/2268736/Three_Hand_Axe_Artefacts.jpg?p=medium600
Source : ซาอุดีอาระเบียจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ค้นพบ "ขวานหินโบราณขนาดยักษ์" ในเมืองอัลอูลา
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.