• มีนักเดินทางเพียง 31% เท่านั้นที่นำเงินสดติดตัวไปยังจุดหมายปลายทางในปี 2566 ลดลงจาก 79% ในปี 2563
  • นักเดินทางยังใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,525 ดอลลาร์ต่อการเดินทาง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,708 ดอลลาร์ในปี 2563

สิงคโปร์, 30 พ.ย. 2566 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต

นักเดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนิยมชำระเงินด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเติมเงิน (บัตรพรีเพด) เมื่อเดินทาง อ้างอิงจากผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก (Global Travel Intentions หรือ GTI) ของวีซ่า (Visa) เน้นย้ำถึงการที่ผู้บริโภคพึ่งพาวิธีการชำระเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

จำนวนผู้เดินทางที่นำเงินสดติดตัวมาระหว่างเดินทางลดลง 60% หลังการแพร่ระบาด โดยมีเพียง 31% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่พกเงินสดในปี 2566 เทียบกับ 79% ในปี 2563 ผู้ตอบแบบสำรวจอ้างถึงเหตุผลต่าง ๆ เช่น การยอมรับอย่างกว้างขวางจากร้านค้า ความปลอดภัยในการเดินทาง และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ดี เป็นตัวกระตุ้นการใช้บัตรในต่างประเทศ

“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวและวิธีการชำระเงินอันเป็นที่นิยมหลังการแพร่ระบาด โดยคนจำนวนมากเลือกใช้วิธีการชำระเงินที่ปลอดภัย ผ่านระบบดิจิทัล และไร้การสัมผัส” คุณแดเนียล จิน (Danielle Jin) หัวหน้าฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวีซ่า กล่าว “ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของเราเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการชำระเงินดิจิทัล ในการยกระดับประสบการณ์การเดินทางโดยรวม และวิธีการที่ระบบนิเวศการเดินทางจะช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่นนำเสนอโซลูชันการชำระเงินที่ปลอดภัยและไร้การสัมผัส ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนักเดินทางในปัจจุบัน”

ทำความเข้าใจแนวโน้มการเดินทางและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลการสำรวจจากนักท่องเที่ยวมากกว่า 15,000 คนทั่วเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ พบว่านักท่องเที่ยวมีแนวโน้มและพฤติกรรมที่โดดเด่นหลายประการ

  1. จุดหมายปลายทางยอดนิยมที่เลือกเดินทาง: ญี่ปุ่นครองอันดับหนึ่งในบรรดาจุดหมายปลายทางที่ผู้ตอบแบบสำรวจเดินทางไปมากที่สุด โดย 25% ของผู้ตอบแบบสำรวจเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ ตามมาด้วยออสเตรเลีย (18%) และสิงคโปร์ (12%) นอกจากนี้ ออสเตรเลีย (16%) ญี่ปุ่น (16%) และจีนแผ่นดินใหญ่ (9%) ติดอันดับสูงสุดในรายการทริปเดินทางเชิงธุรกิจและการพักผ่อนระหว่างประเทศ หรือ ‘เบลเชอร์’ (bleisure) ซึ่งผู้บริโภคผสมผสานการพักผ่อนเข้ากับกิจกรรมทางธุรกิจในระหว่างการเดินทาง
  2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น: นักท่องเที่ยวยังใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดยเฉลี่ย 2,525 ดอลลาร์ต่อการเดินทาง เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,708 ดอลลาร์ในปี 2563
  3. แรงจูงใจในการเดินทาง: นอกจากนี้ การสำรวจยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าแรงจูงใจหลักในการเดินทางคือการพักผ่อน (39%) ตามมาด้วยความปรารถนาที่จะสำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (14%) และการเยี่ยมครอบครัวและเพื่อนฝูง (13%) แรงจูงใจอื่น ๆ ได้แก่ การชอปปิง (8%) และการออกไปผจญภัย (8%)
  4. ความยั่งยืนถือเป็นประเด็นสำคัญ: 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าสนใจในการเดินทางแบบยั่งยืน โดยกล่าวถึงการเลือกที่พักที่ยั่งยืน การใช้รูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน และการหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระหว่างการเดินทาง ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการเดินทางแบบยั่งยืน
  5. แรงบันดาลใจสำหรับการเดินทางในอนาคต: เมื่อวางแผนการเดินทางในอนาคต นักท่องเที่ยวจะได้รับแรงบันดาลใจจากแหล่งต่าง ๆ อย่างการโฆษณา (49%) และการบอกต่อ (48%) เป็นแนวทางหลัก ทั้งนี้ โปรโมชัน (41%) โซเชียลมีเดีย (39%) และเนื้อหาการท่องเที่ยว (37%) ยังเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญในการเลือกจุดหมายปลายทางและเลือกกิจกรรม

ใช้ข้อมูลปลดล็อกโอกาสใหม่ ๆ ในการเดินทาง

สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การสำรวจแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของวีซ่ากับพาร์ทเนอร์มากมายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนการท่องเที่ยว สายการบิน ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐ แสดงให้เห็นว่าวีซ่าเป็นองค์กรที่พร้อมด้วยข้อมูล สามารถเข้าถึงลูกค้านักเดินทางในวงกว้างได้ดียิ่งขึ้นด้วยการมอบประสบการณ์ความเป็นส่วนตัวและความพึงพอใจ

“ความพร้อมด้านข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกของวีซ่าให้ภาพรวมของแนวโน้มการเดินทางในเอเชียแปซิฟิก ที่ให้รายละเอียดว่าใคร อย่างไร ที่ไหน และทำไม ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถดึงดูดความสนใจและพร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวทันทีที่พวกเขาตัดสินใจเดินทาง” คุณจิน กล่าวเสริม “เพื่อให้บริการแก่พันธมิตรของเราได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นทีมงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อช่วยให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากข้อมูล รวมทั้งเพิ่มโอกาสสูงสุดสำหรับด้านการเดินทางและการชำระเงินข้ามพรมแดน”

ข้อมูลการชำระเงินและความสามารถด้านวิทยาการข้อมูลภายในองค์กรของวีซ่า ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ วางแผนล่วงหน้าได้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสูงสุดเมื่อการเดินทางมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อผนวกกับข้อมูลจากพันธมิตร เช่น จำนวนที่นั่งของสายการบิน ข้อมูลเชิงลึกของวีซ่าสามารถคาดการณ์ฤดูที่นักท่องเที่ยวเยอะที่สุดและนิยมสูงสุดสำหรับธุรกิจในระบบนิเวศการเดินทาง ซึ่งประกอบด้วยร้านค้าและผู้ค้าปลีกไปจนถึงธนาคาร ฟินเทค และหน่วยงานรัฐบาลในภาคการท่องเที่ยว องค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่าง ๆ เหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกของวีซ่า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความชอบของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่มีการเดินทางหนาแน่น รวมทั้งวางแผนดีลข้อเสนอและรางวัลในการเดินทางสำหรับผู้ถือบัตรวีซ่าในเวลาที่เหมาะสม

ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า ประจำปี 2566 ดำเนินการโดยโฟร์ไซต์ รีเสิร์ช แอนด์ อนาลิติกส์ (4SIGHT Research & Analytics) ในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2566 และสำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม 15,467 รายจากออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม การสำรวจ GTI นี้จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปี มาเป็นเวลากว่าทศวรรษ โดยศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางและการชำระเงิน ขณะเดียวกันก็วิเคราะห์แนวโน้มใหม่ ๆ ในภาคการท่องเที่ยว

เกี่ยวกับวีซ่า

วีซ่า (Visa) (NYSE:V) เป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก วีซ่าให้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้บริโภค ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ภารกิจของเราคือการเชื่อมโยงโลกผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการชำระเงินที่เชื่อถือได้ สะดวก และปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้ผู้บริโภค ร้านค้า และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าเศรษฐกิจที่รวมทุกคนในทุกที่เข้าด้วยกัน จะช่วยยกระดับทุกคนในทุกที่ และมองว่าการเข้าถึงเป็นรากฐานสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินในอนาคต ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Visa.com

Source : ผลสำรวจจากวีซ่าเผย 97% ของนักเดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเลือกที่จะไม่ใช้เงินสดเมื่อเดินทาง

The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.

Sign In

Register

Reset Password

Please enter your username or email address, you will receive a link to create a new password via email.