• การพลิกโฉมธุรกิจด้วยเทคโนโลยี: เหล่าผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจต่างแสดงความมั่นใจว่าเทคโนโลยีคือแรงผลักดันอนาคตของการค้าโลก โดย 98% ได้นำ AI มาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดการสินค้าคงคลังไปจนถึงการปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง
  • การรุกใช้เทคโนโลยี: เนื่องจากความท้าทายต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจต่าง ๆ จึงวางแผนที่จะรุกใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจหนึ่งในสามมุ่งเน้นไปที่ระบบอัตโนมัติขั้นสูง ขณะที่ 28% เน้นบล็อกเชน และ 21% เน้น AI การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์
  • การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน: ในขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังครอบงำ บริษัทจำนวนมากได้หันมาใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น รวมถึงกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนาน ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าหนึ่งในสี่ลดจำนวนซัพพลายเออร์ให้เหลือน้อยลง
  • อีโคโนมิสต์ อิมแพค คาดการณ์ว่า GDP โลกจะลดลง 0.9% หากภาษีการค้าสินค้าไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์, 16 มกราคม 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ /PRNewswire/ — ในปี 2566 แม้จะมีความท้าทายนานัปการ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่เหล่าผู้บริหารธุรกิจยังคงมีมุมมองบวกอย่างไม่น่าเชื่อต่อธุรกิจในปี 2567 โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานการวิจัยฉบับใหม่ของอีโคโนมิสต์ อิมแพค (Economist Impact) และดีพีเวิลด์ (DP World) ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (16 ม.ค.) ณ การประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum)


The influence of geopolitical events on trade and supply-chain operations

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาพลิกโฉมประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้า การแบ่งขั้วและแยกส่วนทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางการเมืองกำลังเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ได้หันมาทบทวนความเสี่ยงภายในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง พร้อมกับมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น (Friendshoring) และกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนาน (Dual Supply Chain)

รายงานประจำปี เทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับที่ 4 ซึ่งดีพีเวิลด์มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพค เป็นผู้จัดทำ ได้รวบรวมมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายภูมิภาคและภาคส่วนต่าง ๆ โดยพบว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ความเร่งด่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ได้ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน แต่ก็ยังได้รับโอกาสมากมายเช่นกัน

ปี 2566 มีนัยสำคัญด้านนวัตกรรมห่วงโซ่อุปทาน โดยเทคโนโลยีก่อให้เกิดมุมมองบวกต่อปี 2567

ผลสำรวจผู้บริหารบริษัททั่วโลกจำนวน 3,500 คนพบว่า เทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานคือปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริหารธุรกิจมีมุมมองบวกเมื่อถูกขอให้ประเมินอนาคตของการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AI มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยผู้บริหาร 98% ได้นำ AI มาใช้ปฏิวัติการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างน้อยหนึ่งด้าน

ตั้งแต่การแก้ปัญหาการจัดการสินค้าคงคลัง การลดค่าใช้จ่ายด้านการค้า ไปจนถึงการปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง เหล่าผู้บริหารต่างใช้ประโยชน์จากการบูรณาการ AI เข้ากับการดำเนินงาน โดยผลสำรวจพบว่าธุรกิจหนึ่งในสามกำลังใช้ AI เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานด้านการค้าโดยรวม ขณะที่อีกหนึ่งในสามก็กำลังใช้ AI เพื่อปรับปรุงการวางแผนทรัพยากรและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ บริษัทมากกว่าหนึ่งในสามมองว่าการส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลังถือเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดต้นทุนการค้าและห่วงโซ่อุปทานโดยรวม

มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจต่าง ๆ จะรุกใช้เทคโนโลยีมากขึ้นอีกในปีนี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเชิงรุกที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมมาใช้รับมือกับภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผลสำรวจพบว่าธุรกิจหนึ่งในสามเน้นใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูงและหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ขณะที่ 28% จะหันมาใช้บล็อกเชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับและเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และ 21% จะนำเทคโนโลยี AI การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์และคาดการณ์ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

ห่วงโซ่อุปทานปรับเปลี่ยนตามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ในยุคโลกาภิวัตน์ใหม่ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการค้าโลก โดยธุรกิจต่าง ๆ กำลังพยายามลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ผลสำรวจพบว่าบริษัทมากกว่าหนึ่งในสามกำลังใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจกับประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น เพื่อกำหนดแนวทางการค้าและการดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ 32% กำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนานหรือการจัดซื้อจากซัพพลายเออร์สองรายควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ธุรกิจมากกว่าหนึ่งในสี่กำลังลดจำนวนซัพพลายเออร์ให้เหลือน้อยลง ซึ่งเพิ่มขึ้น 16 จุดเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ มองว่าการลดซัพพลายเออร์ดีกว่าการใช้ซัพพลายเออร์หลายราย และมองว่าความสามารถในการควบคุมซัพพลายเออร์สำคัญกว่าความยืดหยุ่นของซัพพลายเออร์

ธุรกิจต่าง ๆ มีความกังวลมากขึ้นว่า ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งขั้วและแยกส่วนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะขัดขวางการเติบโต โดยธุรกิจหนึ่งในห้าแสดงความกังวลเรื่องภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นหรือความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากรในตลาดสำคัญที่เป็นแหล่งส่งออกหรือนำเข้าสินค้า นอกจากนี้ ผู้บริหาร 22% กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในตลาดที่จัดหาสินค้าให้กับบริษัท ขณะที่เกือบหนึ่งในสี่ (23%) กังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น

อีโคโนมิสต์ อิมแพค ได้ทำการวิเคราะห์การค้าเชิงปริมาณด้วยแพลตฟอร์ม Global Trade Analysis Project (GTAP) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดลงของผลผลิตทั่วโลก ด้วยการจำลองสถานการณ์ “การแบ่งขั้วและแยกส่วนทางภูมิเศรษฐศาสตร์” ที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเน้นไปที่มาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าไฮเทคที่รุนแรงขึ้นมาก ซึ่งกำลังเป็นจุดสนใจทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจุบัน โดยอีโคโนมิสต์ อิมแพค คาดการณ์ว่า GDP ทั่วโลกจะลดลง 0.9% จากสถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างการเผยแพร่รายงาน ณ การประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สุลต่าน อาเหม็ด บิน สุลาเยม (Sultan Ahmed bin Sulayem) ประธานกรรมการและซีอีโอของดีพีเวิลด์กรุ๊ป กล่าวว่า

“ผลการค้นพบในรายงานฉบับนี้ได้เผยให้เห็นถึงมุมมองบวกอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าธุรกิจต่าง ๆ ต้องดำเนินงานในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้าได้ ด้วยการมอบความสามารถในการคาดการณ์ตามที่ธุรกิจต้องการ พร้อมกับลดความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งไม่เพียงนำมาซึ่งการลดภาษีเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และ AI ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ทัศนวิสัย และความสามารถในการปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น”

คุณจอห์น เฟอร์กูสัน (John Ferguson) หัวหน้าฝ่ายโลกาภิวัตน์ใหม่จากอีโคโนมิสต์ อิมแพค กล่าวเสริมว่า

“ในปี 2567 ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นได้ชัดว่าธุรกิจต่าง ๆ หันมาใช้แนวทางที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ไม่มีกลยุทธ์หนึ่งเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกันได้ และสิ่งที่ชัดเจนคือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและชาญฉลาดมากขึ้น”

สามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

เกี่ยวกับอีโคโนมิสต์ อิมแพค

อีโคโนมิสต์ อิมแพค (Economist Impact) ผสานความครบถ้วนสมบูรณ์ขององค์กรมันสมองเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์สื่อ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารที่มีอิทธิพลทั่วโลก

เราร่วมมือกับองค์กร มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน และรัฐบาล ในภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ความยั่งยืน สุขภาพ และรูปแบบของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความก้าวหน้า

impact.economist.com 

เกี่ยวกับเทรด อิน ทรานสิชัน

รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ซึ่งดีพีเวิลด์มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพค เป็นผู้จัดทำ โดยเป็นการสำรวจระดับโลกที่รวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารกว่า 3,500 คน เพื่อสำรวจความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งสำรวจผลกระทบของปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้า นอกจากนี้ รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน ยังเจาะลึกข้อมูลระดับภูมิภาค (อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก) และข้อมูลระดับภาคอุตสาหกรรม (สินค้ากลุ่ม FMCG สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและยา โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า) เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของลำดับความสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ

economistimpact.com/trade-in-transition/ 

สื่อมวลชนติดต่อดีพีเวิลด์ได้ที่

อดาล มีร์ซา (Adal Mirza) 

หัวหน้าฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์  

อีเมล: Adal.mirza@dpworld.com  

โทร: +971 56 355 0899  

ฮาคาม เคอราลลาห์ (Hakam Kherallah) 

ที่ปรึกษาด้านสื่อมวลชนสัมพันธ์และการสื่อสารของซีอีโอ  

อีเมล: Hakam.Kherallah@dpworld.com  

โทร: +971 50 552 2610  

ติดตามดีพีเวิลด์ได้ทาง

ทวิตเตอร์: https://twitter.com/DP_World ลิงด์อิน: https://www.linkedin.com/company/dp-world

เกี่ยวกับดีพีเวิลด์

การค้าเปรียบเสมือนโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของเศรษฐกิจโลก โดยสร้างโอกาสและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ดีพีเวิลด์ (DP World) จึงดำรงอยู่เพื่อทำให้การค้าโลกราบรื่นขึ้น เพื่อสร้างความเป็นไปได้สำหรับลูกค้าและชุมชนที่เราให้บริการทั่วโลก

ด้วยทีมงานมืออาชีพที่มีความหลากหลายและทำงานอย่างทุ่มเทมากกว่า 103,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ใน 75 ประเทศ ทั่วทั้ง 6 ทวีป ดีพีเวิลด์ได้ขยายพรมแดนของการค้าออกไปไกลกว่าเดิมและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ไร้รอยต่อและสอดรับกับอนาคต

เรากำลังเร่งพลิกโฉมและบูรณาการธุรกิจของเรา ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือและท่าเทียบเรือ บริการเดินเรือ โลจิสติกส์ และเทคโนโลยี ตลอดจนบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของเราเข้ากับความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานครบวงจรที่แข็งแกร่งขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการค้าโลกได้

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสร้างอนาคตด้วยการลงทุนในด้านนวัตกรรม ตั้งแต่ระบบการจัดส่งอัจฉริยะไปจนถึงระบบจัดเรียงสินค้าในโกดังอัตโนมัติ เราอยู่ในแนวหน้าของเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไปสู่วิถีการค้าที่ดีกว่าเดิม ด้วยการลดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้เหลือน้อยที่สุด ตั้งแต่โรงงานไปจนถึงประตูบ้านของลูกค้า

เราทำให้การค้าราบรื่น เพื่อสร้างความเป็นไปได้สำหรับทุกคน

รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2317522/Fig9.jpg?p=medium600

รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2317523/Fig10.jpg?p=medium600

 

The extent of technology adoption in trade operations
The extent of technology adoption in trade operations

 

Source : พยากรณ์ธุรกิจปี 2567: ผู้บริหารธุรกิจมองบวกเพราะมั่นใจในเทคโนโลยี แม้เผชิญความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น

The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.

Sign In

Register

Reset Password

Please enter your username or email address, you will receive a link to create a new password via email.