กรุงเทพฯ, 27 กุมภาพันธ์ 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/
ผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และการแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง โดยคนไทยกว่า 53% ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสำรวจจุดหมายปลายทางยอดนิยมก่อนออกเดินทาง ขณะที่ 54% ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตนหลังการเดินทางบนบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัว เทรนด์เหล่านี้เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในหมู่นักเดินทางวัยรุ่นไทยอายุ 18-24 ปี โดยกว่า 60% มีส่วนร่วมในการแชร์ประสบการณ์ออนไลน์ เทียบกับ 51% ที่เป็นนักเดินทางในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป
“ความต้องการส่วนลดการเดินทางและจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอพิเศษเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน โดยกว่า 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามค้นหาข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์” คุณวิลาสินี ศิริบูรณ์พิพัฒนา (ไข่มุก) ที่ปรึกษาจากมินเทล คอนซัลติ้ง (Mintel Consulting) ประจำเอเชียแปซิฟิกใต้ กล่าว “แบรนด์ที่กำหนดเป้าหมายนักท่องเที่ยวสามารถเพิ่มการมองเห็นได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ และนำเสนอภาพถ่ายที่น่าดึงดูดเพื่อดึงความสนใจของนักท่องเที่ยว”
จากการวิจัยของมินเทลพบว่า คนไทยจำนวน 44% มีการเที่ยวพักผ่อนในปีที่ผ่านมา โดยเกือบครึ่ง (20%) ออกเดินทางครั้งละ 2-3 ครั้งต่อปี โดยเหตุผลสามอันดับแรกของการท่องเที่ยวได้แก่ การพักผ่อน (70%) การใช้เวลากับบุคคลที่รัก (64%) และการปลีกตัวจากกิจวัตรประจำวัน (46%)
ด้านผู้บริโภคในกลุ่มที่มีอายุมากกว่ามักให้ความสำคัญกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อนและการพักฟื้นร่างกายมากกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น 75% ของคนไทยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายทั้งด้านทั้งจิตใจและร่างกาย ตรงกันข้ามกับ 70% ของกลุ่มอายุ 25-44 ปี และ 65% ของกลุ่มอายุ 18-24 ปี
คุณไข่มุกยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อบุคคลอายุมากขึ้นและต้องต่อสู้กับภาระผูกพันและความเครียดที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการพักผ่อนและการแสวงหาความสงบก็เด่นชัดมากขึ้นเช่นกัน “แบรนด์ต่าง ๆ สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการดูและการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ”
สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่กลุ่มคนมิลเลนเนียลที่เริ่มมีอายุมากขึ้น (อายุ 35-44 ปี) มักมองว่าวันหยุดเป็นโอกาสในการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญหรือความสำเร็จในชีวิตของพวกเขา (32%)
“การเข้าใจถึงแรงจูงใจในการเดินทางของกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลที่เริ่มมีอายุมากขึ้น ช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับการเดินทางที่เฉลิมฉลองความสำเร็จสำคัญในชีวิตส่วนบุคคล แนวทางนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าแคมเปญและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะตอบโจทย์ผู้ที่มองหาประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมาย” คุณไข่มุกกล่าวเสริม
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้คนไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศ
ท่ามกลางค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนไทยกว่าสามในสี่ (76%) เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในต่างประเทศ
ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 30% กล่าวว่าตนมีโอกาสทดลองชิมอาหารที่แตกต่างกันออกไปในระหว่างการเดินทาง โดย 49% รับประทานอาหารในร้านระดับกูร์เมต์อย่างร้านอาหารดาวมิชลินประจำท้องถิ่น สิ่งนี้ตอกย้ำถึงเสน่ห์ของประสบการณ์ด้านอาหารในท้องถิ่นที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่เพียงแต่มีทิวทัศน์ที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเพียบพร้อมด้วยอาหารรสชาติหลากหลาย
การวิจัยของมินเทลยังพบว่า คนไทยต้องการซึมซับวัฒนธรรมและเข้าถึงกลิ่นอายของสถานที่ที่พวกเขาเดินทางไปอย่างมาก โดยกว่า 83% เห็นด้วยว่าการพบปะผู้คนในท้องถิ่นช่วยเพิ่มความเข้าใจในชุมชนที่พวกเขาท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 86% ในกลุ่มผู้บริโภคเจนเอ็กซ์
“ด้วยความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น คนไทยจึงมีความต้องการเดินทางภายในประเทศมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น และแสวงหาประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันลึกซึ้งร่วมกับวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น” คุณไข่มุกกล่าว “แบรนด์ต่าง ๆ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในระดับที่ลึกซึ้ง เช่นการนำเสนอประสบการณ์ท้องถิ่นที่คัดสรรมาโดยเฉพาะโดยเน้นไปที่อาหารหรือสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ยกระดับความน่าดึงดูดใจให้มากกว่าแค่การนำเสนอผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว”
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.