ฮ่องกง, 12 ธันวาคม 2566 /PRNewswire/ — การประชุมสุดยอดไพรออริตีของสถาบันโครงการลงทุนเพื่ออนาคต (The Future Investment Initiative PRIORITY Summit) ที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ถือเป็นวันที่สองของการประชุมผู้นำจากภาคการเงินและภาครัฐเพื่อจัดการกับประเด็นระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ
DAY TWO OF HONG KONG INVESTOR SUMMIT TACKLES MEGATRENDS IMPACTING THE PLANET’S EIGHT BILLION CITIZENS
นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย นักนวัตกรรม และผู้นำธุรกิจทั่วโลกจำนวนหนึ่งพันคนจากทั่วเอเชียเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือกันเกี่ยวกับ “เมกะเทรนด์” ซึ่งรวมถึงการผงาดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของเอเชียในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อไลฟ์สไตล์และการทำงาน และการนำเงินทุนมาใช้ในตลาดและประเทศเศรษฐกิจต่าง ๆ
การประชุมวันที่สองเริ่มต้นด้วยการนำเสนอรายงานเอฟไอไอ ไพรออริตี คอมพาส (Priority Compass Report) โดยคุณริชาร์ด อัตเทียส (Richard Attias) ซีอีโอของสถาบัน FII และคุณรากัน ทารับโซนี (Rakan Tarabzoni) ซีโอโอ รายงานดังกล่าวสำรวจผู้คน 53,000 คนทั่วโลกใน 23 ประเทศ โดยพบว่าความพึงพอใจโดยรวมของผู้คนทั่วโลกต่อชีวิตส่วนตัวลดลงอย่างมากถึง 20% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยผู้ตอบแบบสอบถามรายงานความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ ความเหงา เทคโนโลยี และปัญหาสภาพอากาศ 65% ของคนในประเทศที่สำรวจมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพในแต่ละวัน ส่วนปัญหาความเหงาได้กลายเป็นเรื่องที่คนกังวลกันมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดย 41% ของประชากรในเอเชียรายงานว่ารู้สึกเหงาอยู่บ่อยครั้ง ผู้คน 55% ทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพในราคาย่อมเยา นอกจากนี้ ปัญหาสภาพอากาศยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้คน 78% ทั่วทั้งซีกโลกใต้กังวลเกี่ยวกับมลภาวะ
คุณลอเรนซ์ โมโรนีย์ (Laurence Moroney) หัวหน้าฝ่ายเอไอของกูเกิล (Google) กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ AI จะมีอคติเนื่องจากการพึ่งพาชุดข้อมูลภาษาอังกฤษเป็นหลัก คุณโมโรนีย์ชี้ให้เห็นว่า 60% ของข้อมูลบนเว็บ 2.0 นั้นสร้างขึ้นโดยบอต
นอกจากนี้ คุณโมโรนีย์ยังกล่าวว่า นวัตกรด้าน AI จำเป็นต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ในการพัฒนาโมเดล AI ด้วย โดยอธิบายว่าโมเดล AI เจมีไน (Gemini) ของกูเกิลกำลังทำงานเพื่อรวบรวมและรักษาวัฒนธรรมต่าง ๆ ลงในโมเดลขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้คนสามารถโต้ตอบ เรียนรู้ และอนุรักษ์วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่ได้
ในการอภิปรายเกี่ยวกับค่าครองชีพ คุณเจอร์รี หลี่ (Jerry Li) ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการอีดับเบิลยูทีพี อาระเบีย แคปิทอล (eWTP Arabia Capital) อธิบายว่า ข้อมูลเปรียบได้กับน้ำมันชนิดใหม่ โดยเป็นทรัพยากรที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมและความก้าวหน้า ข้อมูลปริมาณ 120 เซตตาไบต์ (120,000,000,000,000,000,000,000 ไบต์) ที่สร้างขึ้นในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 150% ในปี 2568 เป็น 181 เซตตาไบต์
ในระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน คุณอีดิธ หยาง (Edith Yeung) จากเรซ แคปิทอล (Race Capital) กล่าวว่า AI จะช่วยปลดปล่อยผู้คนจากงานที่ไม่อยากทำ และทำให้พวกเขามีเวลาไปทำกิจกรรมที่มีความหมายมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วไปจะใช้เวลาทำงาน 90,000 ชั่วโมงตลอดช่วงชีวิต
คุณเรย์มอนด์ หยวน (Raymond Yuan) ซีอีโอและประธานซีทีเอช กรุ๊ป (CTH Group) ชี้ให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างบล็อกเชนกับ AI ที่เริ่มปรากฏในสาขาการดูแลสุขภาพ วิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต และบริการทางการเงิน ขนาดตลาดบล็อกเชนทั่วโลกคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 7.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และตลาดปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกมีมูลค่า 4.28 แสนล้านดอลลาร์
คณะผู้ร่วมลงทุน (venture capitalist) ชั้นนำของเอเชียได้อภิปรายถึงวิธีที่เอเชียสามารถสร้างอีโคซิสเต็มบริษัทสตาร์ตอัปให้มีชีวิตชีวาและประสบความสำเร็จได้ โดยมีการลงทุนในสตาร์ตอัปเอเชียมูลค่า 2.23 หมื่นล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. 2566
คุณโจชัว ฟิงก์ (Joshua Fink) ผู้ก่อตั้งบริษัท ลูมา กรุ๊ป (Luma Group) กล่าวถึงผลกระทบของการลงทุนในด้านอายุขัยและความชรา โดยอธิบายว่าเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (regenerative medicine) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลนั้น สามารถปฏิวัติวงการโดยการทำให้เซลล์ย้อนกลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดโรค ถือเป็นความหวังในการต่อสู้กับโรคทางพันธุกรรม
เจ้าชายไฟซาล บิน บันดัร บิน สุลต่าน (Faisal bin Bandar bin Sultan) ประธานสหพันธ์อีสปอร์ตส์แห่งซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า การเล่นเกมเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 12% ต่อปีตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยภายในสิ้นปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนเกมเมอร์ถึง 3.75 พันล้านคนทั่วโลก
ในวงเสวนา “ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรม” กับเซอร์มาร์ติน ซอร์เรล (Sir Martin Sorrell) คุณริชาร์ด อัตเทียส กับเซอร์ซอร์เรลได้สำรวจอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลกซึ่งมีมูลค่า 9.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าสื่อดิจิทัลจะคิดเป็นสัดส่วน 70% ภายในปี 2568 ส่วนอนาคตของแพลตฟอร์มอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) เซอร์ซอร์เรลอธิบายว่า เมื่อมุมมองของคนหนุ่มสาวถูกกำหนดโดยโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ ๆ ปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลจะยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ เขาชี้ให้เห็นว่า โคคา-โคล่า (Coca Cola) กำลังพิจารณาใช้ศักยภาพของ AI เพื่อส่งสารที่ปรับแต่งให้ถูกใจลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า ‘Hyper Personalization’
ภายในการประชุมสุดยอด คุณรากัน ทารับโซนี (Rakan Tarabzoni) ซีโอโอของสถาบัน FII นำเสนอเครื่องมือ ESG ที่ครอบคลุมของ FII ซึ่งเปิดตัวเพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ในตลาดเกิดใหม่มีความยั่งยืนมากขึ้น และช่วยให้เม็ดเงินลงทุนไหลไปสู่ผู้นำที่ทำผลงานได้ดีในปัจจุบันและที่มีแววในอนาคต เครื่องมือดังกล่าวซึ่งเปิดให้ทุกคนใช้งานได้แล้วนั้นจะจัดการกับอคติที่ฝังอยู่ในวิธีการ ESG อื่น ๆ และอาจปลดล็อกช่องว่างด้านเงินทุน 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่
ในเซสชันสุดท้าย ฯพณฯ เชลล์ มังเนอร์ บอนเดวิก (Kjell Magne Bondevik) อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์และประธานศูนย์เพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชนแห่งออสโล ได้ประกาศว่า เขาเชื่อมั่นว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับข้อกังวลของคนธรรมดาทั่วไปอย่างจริงจังมากขึ้น จะเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบัน FII ได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) และบริษัทที่ปรึกษาดีลอยท์ (Deloitte) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการประชุมสุดยอด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากแพลตฟอร์มคอร์ไคลเมต (Core Climate) ของ HKEX ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นร่วมกันว่า ตลาดกับธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายสามารถรับใช้มนุษยชาติในฐานะพลังแห่งความดีได้
ในระหว่างการประชุมสุดยอด บีโอซี อินเตอร์เนชั่นแนล (BOC International) ได้ลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัทเอสพีไอซี อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ (ฮ่องกง) คอมปานี จำกัด (SPIC International Finance (Hong Kong) Company Ltd.) ในด้านการเงินสีเขียว การลงทุนและการออกพันธบัตร และการจัดการเงินทุนทั่วโลก โดยมีคุณพอล เฉิน (Mr. Paul Chan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง เป็นสักขีพยานในการลงนาม
การประชุมสุดยอดดังกล่าวซึ่งร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ได้จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมคอนเน็คท์ฮอลล์แห่งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX Connect Hall)
การประชุมสุดยอดไพรออริตีของสถาบัน FII ในฮ่องกงสานต่อการสนทนาจากการประชุมซึ่งจัดที่กรุงริยาดเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชุมสุดยอดระดับโลกที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้าที่เมืองไมอามี (กุมภาพันธ์), บราซิล (มิถุนายน) และแอฟริกา (กันยายน)
คุณริชาร์ด อัตเทียส ซีอีโอของสถาบันโครงการลงทุนเพื่ออนาคต กล่าวว่า
“ผมอยากจะขอขอบคุณรัฐบาลฮ่องกง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และผู้คนในเมืองที่สวยงามแห่งนี้ที่ได้ต้อนรับพวกเราในสัปดาห์นี้ด้วยความยินดี ในขณะที่โลกวางแผนเส้นทางข้างหน้า เราต้องคำนึงถึงทุกประเด็นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นค่าครองชีพ การพัฒนารูปแบบการชำระเงินใหม่ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ หรือความยากจน การลงทุนและนวัตกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นักลงทุนและนวัตกรที่มาอยู่ที่นี่กันในสัปดาห์นี้ให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง การสนทนาและการทำงานหนักจะดำเนินต่อไปในขณะที่เรามุ่งมั่นเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
สื่อมวลชนติดต่อ:
อีเมล: Media@fii-institute.org
เกี่ยวกับสถาบัน FII
สถาบันโครงการลงทุนเพื่ออนาคต หรือสถาบัน FII คือมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมีเครื่องมือการลงทุนและมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ การสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อมนุษยชาติ เราดำเนินงานอย่างครอบคลุมในระดับโลก เราส่งเสริมผู้มีไอเดียดี ๆ จากทั่วโลกและเปลี่ยนไอเดียเหล่านั้นให้เป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริงในสี่ส่วนสำคัญด้วยกัน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ การศึกษา การดูแลสุขภาพ และความยั่งยืน
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2296786/Future_Investment_Initiative_Institute_1.jpg?p=medium600
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/1811613/4445856/FII_Institute_Logo.jpg?p=medium600
Source : วันที่สองของการประชุมสุดยอดนักลงทุนฮ่องกง รับมือกับเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อชาวโลกทั้งแปดพันล้านคน
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.