ปักกิ่ง, 17 พ.ย. 2567 /PRNewswire/ — “จากชางใคสู่เซี่ยงไฮ้” ได้กลายเป็นคำขวัญยอดนิยมในเปรู หลังจากท่าเรือชางใค (Chancay Port) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงภายใต้ “โครงการสายแถบและเส้นทาง” (BRI) ที่จีนริเริ่มขึ้น ได้จัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

เมกะโปรเจกต์มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์นี้ เตรียมเข้ามาปฏิวัติการค้าในภูมิภาค ด้วยความสามารถในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และลดระยะเวลาการขนส่งลงอย่างมาก โดยในเฟสแรกนั้นจะสามารถลดเวลาการขนส่งทางทะเลจากเปรูไปจีนเหลือเพียง 23 วัน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้อย่างน้อย 20%

ท่าเรือแห่งใหม่นี้มีท่าเทียบเรือ 4 จุด ความลึกสูงสุด 17.8 เมตร รองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษที่บรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดยี่สิบฟุต (TEU) ได้ถึง 18,000 ตู้ ท่าเรือนี้ได้รับการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าปีละ 1 ล้าน TEU ในระยะแรก และ 1.5 ล้าน TEU ในระยะยาว ส่งผลให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างลาตินอเมริกากับเอเชีย

Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวในบทความที่ท่านได้ลงนามเอาไว้ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีในสื่อเปรูอย่าง El Peruano ว่า โครงการท่าเรือชางใคคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เปรูถึงปีละ 4.5 พันล้านดอลลาร์ และสร้างงานโดยตรงกว่า 8,000 ตำแหน่ง

ประธานาธิบดี Xi และประธานาธิบดี Dina Boluarte ผู้นำเปรู ได้เข้าร่วมพิธีเปิดท่าเรือชางใคผ่านระบบวิดีโอลิงก์เมื่อวันพฤหัสบดี

ประธานาธิบดี Xi กล่าวในพิธีเปิดว่า “จากชางใคสู่เซี่ยงไฮ้ สิ่งที่เรากำลังเห็นไม่ใช่แค่การหยั่งรากและเบ่งบานของโครงการสายแถบและเส้นทางในเปรูเท่านั้น แต่ยังเป็นการกำเนิดประตูการค้าแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเล เชื่อมเอเชียและลาตินอเมริกาเข้าด้วยกัน”

ประธานาธิบดี Xi เดินทางถึงเปรูเมื่อวันพฤหัสบดีเพื่อเยือนประเทศอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 31 นับเป็นการเยือนทวีปนี้ครั้งที่ 6 ของท่านนับตั้งแต่ปี 2556

ปฏิวัติพลวัตการค้าในภูมิภาค

ประธานาธิบดี Xi เปิดเผยว่า ท่าเรือชางใคไม่เพียงเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นท่าเรืออัจฉริยะและท่าเรือสีเขียวแห่งแรกในอเมริกาใต้ด้วย

ท่าเรือนี้ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ในฐานะประตูสู่แปซิฟิกของเปรู เชื่อมต่อกับทางหลวงแพนอเมริกันผ่านอุโมงค์ ทำให้เข้าถึงกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรูได้โดยตรง ในฐานะ “ทางด่วนทางทะเล” สายแรกสู่ลาตินอเมริกา ท่าเรือนี้จะช่วยให้การขนส่งสินค้าส่งออกของเปรู เช่น แครนเบอร์รีและอะโวคาโด ไปยังตลาดเอเชียเร็วขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง

Raul Perez Reyes รัฐมนตรีคมนาคมเปรู กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เรามีเป้าหมายในการเป็นสิงคโปร์แห่งลาตินอเมริกา เพื่อให้สินค้าที่จะไปเอเชียต้องผ่านที่นี่ เมื่อใครก็ตามจากบราซิล เวเนซุเอลา โบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา ต้องการไปเอเชีย พวกเขาควรนึกถึงเปรูเป็นจุดเริ่มต้น”

การก่อสร้างท่าเรือชางใคสอดคล้องอย่างลงตัวกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการค้าระหว่างจีนกับลาตินอเมริกา

นอกจากนี้ เปรูได้ริเริ่มแผนพัฒนาเครือข่ายรถไฟและทางหลวงเชื่อมต่อท่าเรือชางใคกับเมืองสำคัญทั่วประเทศ โดยมีแผนที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายคมนาคมในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคในอนาคต และสามารถรองรับการส่งออกถั่วเหลือง แร่เหล็ก เนื้อแช่แข็งจากบราซิล กาแฟ อะโวคาโดจากโคลอมเบีย และสินค้าอื่น ๆ ไปยังเอเชียผ่านเส้นทางการค้าใหม่นี้

David Gamero รองผู้จัดการโครงการท่าเรือชางใค กล่าวว่า “ท่าเรือชางใคจะช่วยเปรูพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งทางเรือและกระชับความร่วมมือทางการค้ากับเอเชีย” และเสริมว่านอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ท่าเรือขนาดใหญ่นี้จะผลักดันการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าด้านโลจิสติกส์ของลาตินอเมริกา และส่งเสริมการเติบโตทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สร้าง “ผลกระทบทวีคูณ”

ประธานาธิบดี Xi เคยยกเปรูเป็น “เพื่อนบ้านของจีนฝั่งตรงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก” และอ้างบทกวีโบราณของจีนเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนว่า “มิตรแท้ย่อมรู้สึกใกล้ชิดกันเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด”

เมื่อท่าเรือชางใคเปิดดำเนินการ จะสามารถผนวกรวมทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกาเข้ากับกรอบเศรษฐกิจที่มีพลวัตของเอเชียแปซิฟิก เพื่อช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อทั้งภายในและภายนอกทวีป

กระชับความร่วมมือจีน-ลาตินอเมริกา

โครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) ที่จีนเสนอขึ้นในปี 2556 ได้ผนวกภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเข้ามาในปี 2560

รายงานของคณะกรรมการอำนวยการโครงการสายแถบและเส้นทางระบุว่า ณ ปี 2566 มี 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือ BRI กับจีน โดยมีโครงการสำคัญ ๆ รวมถึงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพิเศษของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Belo Monte ในบราซิล ทางรถไฟ Belgrano Cargas ในอาร์เจนตินา และอื่น ๆ

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2555 จีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของลาตินอเมริกา โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับประเทศในแถบลาตินอเมริกานั้นสูงกว่า 4.89 แสนล้านดอลลาร์

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า การลงทุนและการสนับสนุนทางเทคนิคจากจีนกำลังช่วยให้ประเทศในลาตินอเมริกาเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศซีกโลกใต้ ทั้งยังแสดงความคาดหวังว่า การเข้าร่วมประชุมเอเปคของประธานาธิบดี Xi จะช่วยเสริมแรงผลักดันเชิงบวกให้กับการรวมกลุ่มและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

Rafael del Campo Quintana รองประธานสมาคมผู้ส่งออกเปรู กล่าวว่า เอเปคไม่เพียงแต่เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเปรู ได้บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง

https://news.cgtn.com/news/2024-11-14/Peru-s-Chancay-megaport-poised-to-reshape-trade-in-the-Pacific-1yveJbUsORy/p.html 

Source : CGTN: จากชางใคสู่เซี่ยงไฮ้: พลิกโฉมอนาคตการค้าลาตินอเมริกา

The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.

Sign In

Register

Reset Password

Please enter your username or email address, you will receive a link to create a new password via email.