ปักกิ่ง–16 พฤศจิกายน 2566–พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 ได้เปิดฉากขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐอเมริกาในการประชุมครั้งนี้
บรรดาเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ รวมถึงสหรัฐอเมริกาเอง ต่างเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกาที่เป็นไปในทิศทางบวกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน และการหารือระดับทวิภาคีก็มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งบรรยากาศและโอกาสอันดีสำหรับทั่วโลก
การพบกันของสีจิ้นผิง-ไบเดน มีแนวโน้มสร้าง “บรรยากาศที่เป็นบวกอย่างยิ่ง”
คุณรีเบกกา ฟาติมา สตา มาเรีย (Rebecca Fatima Sta Maria) กรรมการบริหารของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) กล่าวว่า “การที่ผู้นำจากสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกมาที่นี่เพื่อหารือในประเด็นที่สำคัญยิ่งในเวลานี้ ถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสอื่น ๆ สำหรับทั่วโลกอย่างแท้จริง”
“ความเคลื่อนไหวนี้สร้างบรรยากาศที่เป็นบวกอย่างยิ่งสำหรับช่วงสิ้นปี อันเป็นรอยต่อของการเริ่มต้นศักราชใหม่ในปีหน้า”
คุณมาเรียกล่าวเสริมด้วยว่า นานาประเทศควรคำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพรวมมากขึ้น ซึ่งสามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากมิติที่กว้างขึ้นได้
คุณโรแบร์โต อาเซเวโด (Roberto Azevedo) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) โดยแสดงความคาดหวังว่า สหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถหาหนทางเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันผ่านการพบกันครั้งนี้ เนื่องจากบรรยากาศระหว่างสองมหาอำนาจที่มีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นถือเป็น “พื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้โลกรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และรู้สึกว่าเรากำลังมาถูกทางแล้ว”
เขาแนะนำว่าทั้งสองฝ่ายควรเปิดใจพูดคุยกัน และยอมรับฟังสิ่งที่แต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องการได้ยิน
คุณคีตา โฆปินาถ (Gita Gopinath) รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดี ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกับเศรษฐกิจโลกด้วย พร้อมกับระบุว่า “จะต้องมีวิธีที่ทั้งสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันได้”
คุณสตีเวน ฉู่ (Steven Chu) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า “การแบ่งขั้ว” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็น “ความคิดที่ไม่ดี” พร้อมเสริมด้วยว่าหากทำเช่นนั้น ความไว้วางใจระหว่างกันที่มีอยู่น้อยนิดก็จะเลือนหายไป
นอกจากนี้ เนื่องจากจีนเป็นผู้เล่นรายสำคัญและเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ฉะนั้น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
จุดเริ่มต้นใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
วงดนตรี ฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา (Philadelphia Orchestra) ได้กลับมาเยือนแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี หลังจากที่เคยสร้างทริปประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ในฐานะวงออร์เคสตราสัญชาติอเมริกันวงแรกที่มาเปิดการแสดงในจีน
ในระหว่างวันที่ 9-18 พฤศจิกายน ฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตพร้อมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในย่านที่อยู่อาศัยของปักกิ่ง เทียนจิน ซูโจว และเซี่ยงไฮ้
ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น คุณทริสตัน ไรส์-เชอร์แมน (Tristan Rais-Sherman) ผู้ช่วยวาทยกรของฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เฉลิมฉลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้”
ขณะเดียวกัน เขาแสดงความหวังว่าการมาเยือนครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และวงออร์เคสตราสัญชาติอเมริกันวงอื่น ๆ จะได้กลับมาบรรเลงดนตรีขับกล่อมชาวจีนสืบต่อไป
หลังจบคอนเสิร์ตในกรุงปักกิ่ง คุณนิโคลัส เบิร์นส์ (Nicholas Burns) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน ได้กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า ดนตรีช่วยประสานให้สองประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 วงออร์เคสตราได้มาที่เมืองจีน และรวมสองประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน บัดนี้ เรากำลังอยู่ในอีกห้วงเวลาหนึ่งซึ่งทั้งสองประเทศกำลังสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง รวมถึงผู้นำของเรา รัฐบาลของเรา และประชาชนของเราด้วยเช่นกัน”
นอกจากนี้ เที่ยวบินตรงระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังกลับมาให้บริการมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น
ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคครั้งนี้ พร้อมที่จะดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกด้วยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเห็นได้จากย่านไชน่าทาวน์อันเก่าแก่ และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้อยู่อาศัยถึง 1 ใน 3 ของนครแห่งนี้มีเชื้อสายเอเชียหรือประเทศเกาะแปซิฟิก
คุณลอนดอน บรีด (London Breed) นายกเทศมนตรีคนที่ 45 ของซานฟรานซิสโก กล่าวว่า นครแห่งนี้เป็นประตูสู่เอเชียแปซิฟิก โดยซานฟรานซิสโกตั้งตารอที่จะสร้างสะพานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยความเต็มใจ
คุณบรีดยังรับประกันด้วยว่า โคมไฟที่แขวนอยู่ตามย่านไชน่าทาวน์ของซานฟรานซิสโกตลอดทั้งปีจะ “ส่องสว่างยิ่งกว่าที่เคยในช่วงการประชุมเอเปค”
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.