ปักกิ่ง, 26 ก.พ. 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — มณฑลต่าง ๆ ของจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ตั้งแต่ 4.5 ถึง 8% ในจำนวนนี้ กว่า 20 ภูมิภาคตั้งเป้าดัน GDP ให้โตเกิน 5%
ที่น่าสนใจคือ มณฑลเหล่านี้จัดลำดับความสำคัญในทิศทางเดียวกัน ทั้ง “พลังขับเคลื่อนการผลิตใหม่” “การส่งเสริมการบริโภค” และ “การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ”
แนวคิด “พลังขับเคลื่อนการผลิตใหม่” ที่ว่านี้ หมายถึงกำลังการผลิตในรูปแบบใหม่ที่ได้มาจากนวัตกรรมและความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์และอุตสาหกรรมในอนาคต ในยุคข้อมูลที่ชาญฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
มณฑลต่าง ๆ ได้สำรวจภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างพลังการผลิตใหม่ ๆ อย่างเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตทางชีวภาพ เศรษฐกิจอากาศยานบินต่ำ (low-altitude economy) และสาขาเกิดใหม่ต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีควอนตัมและชีววิทยาศาสตร์
มณฑลต่าง ๆ ยังได้พยายามนำข้อมูลมาบูรณาการเข้ากับการใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ตัวอย่างเช่น มณฑลเจ้อเจียงได้ตั้งเป้าดันมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลแกนหลักขึ้นให้ได้ 9% และส่งเสริมให้องค์กรขนาดใหญ่ 85% ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
ในทำนองเดียวกัน หลาย ๆ มณฑลทางตะวันตกกำลังมองหาช่องทางใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านพลังการประมวลผล เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่างชาญฉลาด และเสริมศักยภาพให้กับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนมากกว่า 36% ของ GDP ในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ การส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชนยังกลายเป็นประเด็นสำคัญอีกด้วย โดยหลาย ๆ มณฑลวางแผนที่จะใช้นโยบายทางการเงิน เพื่อสนับสนุนองค์กรเอกชนที่มีบทบาทคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในส่วนสำคัญ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในโครงการวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญ และเชิญชวนภาคเอกชนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในปีนี้ มณฑลเจียงซูวางแผนประกาศใช้นโยบายพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่กว่างซีเตรียมออกแนวทางแก่สถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการสนับสนุนสินเชื่อครั้งแรกให้กับธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ ไห่หนานยังเตรียมสร้างกองทุนเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่มีเครดิตดีแต่ประสบปัญหาทางการเงินชั่วคราวด้วย
ในขณะเดียวกัน มณฑลและเขตปกครองต่าง ๆ เช่น เจียงซี เหลียวหนิง ฉงชิ่ง และซานซี กำลังปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลเพื่อปกป้องสิทธิการลงทุน เพื่อขจัดอุปสรรคทางอ้อมในการเข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจทุกประเภทจะแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นและเอื้ออำนวย ประกอบกับตลาดผู้บริโภคที่กว้างใหญ่ ล้วนดึงดูดให้องค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศมั่นใจกับโอกาสการลงทุนระยะยาวในจีน
บริษัทข้ามชาติรายใหญ่จากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เคเอฟซี (KFC) และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) ได้เพิ่มการลงทุนในจีนเมื่อไม่นานมานี้ โดยจีนยังคงเป็นจุดหมายการลงทุนแห่งสำคัญ เพราะมีศักยภาพสดใสในด้านนวัตกรรม รวมถึงแนวทางสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุม และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ
ในปี 2566 การลงทุนโดยตรงของเยอรมนีในจีนเพิ่มขึ้น 4.3% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.19 หมื่นล้านยูโร (1.27 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของบุนเดสแบงก์ (Bundesbank) ที่วิเคราะห์โดยสถาบันไอดับบลิว (IW) นอกจากนี้ เยอรมนียังลงทุนในจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 10.3% เมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดในปีที่แล้ว ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557
ตลาดผู้บริโภคเฟื่องฟู
ตลาดผู้บริโภคของจีนได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครวมในปีที่แล้วอยู่ที่ 47.15 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดค้าปลีกออนไลน์เพิ่มขึ้น 11% โดยยอดขายสินค้าจับต้องได้ที่ขายทางออนไลน์นั้นคิดเป็นสัดส่วน 27.6% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
ผาน เหอหลิน (Pan Helin) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เปิดเผยว่า การบริโภครูปแบบใหม่ ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ได้ขยายช่องทางการขายที่มีอยู่ในตลาดผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
การฟื้นฟูตลาดผู้บริโภคยังสะท้อนให้เห็นในภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมานี้ มีความกระตือรือร้นในการเดินทางปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เยี่ยมชมสถานที่ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสำคัญทั่วประเทศสูงถึง 123 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากถึง 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
กิจกรรมด้านการเดินทางและวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ยังเข้ามากระตุ้นการใช้จ่ายด้านความบันเทิงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเมื่อเวลา 13:15 น. ของเมื่อวันศุกร์ จีนกวาดรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศเมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีน (รวมถึงการขายล่วงหน้า) ทะลุหลัก 7 พันล้านหยวน (ประมาณ 983.3 ล้านดอลลาร์) ตามข้อมูลของเติ้งถ่า โปร (Dengta Pro) ซึ่งเป็นธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลของแพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ชั้นนำของจีนอย่างเถาเพี่ยวเพี่ยว (Taopiaopiao)
คุณผานมองว่า การที่ผู้บริโภคต้องการคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นและประสบการณ์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการบริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แนวโน้มเช่นนี้ บวกกับความกระตือรือร้นที่เพิ่มมากขึ้นในการชอปปิงและกิจกรรมสันทนาการ บ่งชี้ว่าตลาดผู้บริโภคของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
Source : CGTN: เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณคึกคัก โดยมีนวัตกรรมเฟื่องฟู ตลาดเติบโตแข็งแกร่ง
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.