แชเปิลฮิลล์, นอร์ทแคโรไลนา, 21 มิถุนายน 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — สมาคมนานาชาติว่าด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (The International Society on Thrombosis and Haemostasis หรือ ISTH) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับนานาชาติที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาให้เกิดความเข้าใจ การป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด ได้เผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติฉบับแรกที่ใช้กลไกวิธี GRADE อย่างเข้มงวดเพื่อการรักษาโรคฮีโมฟีเลียเอและบีตั้งแต่กำเนิด
โรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคเลือดออกผิดปกติที่พบได้ยาก ซึ่งเกิดจากการขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) และส่งผลกระทบต่อคนหลายแสนคนทั่วโลกทั้งยังต้องใช้กลยุทธ์การจัดการที่ซับซ้อน แนวทางนี้เป็นแนวทางครอบคลุมฉบับแรกที่ใช้แนวทางประเมินคุณภาพของหลักฐานและจัดระดับคำแนะนำ (Grading of Recommendations Assessment, Development, and Evaluation หรือ GRADE) ซึ่งจะให้กรอบการตัดสินใจแบบมีโครงสร้างและเข้มงวดสำหรับแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้ป่วย และผู้ดูแล
วัตถุประสงค์ของแนวทางนี้ คือการให้ภาพรวมของหลักฐานที่ครอบคลุมในการตัดสินใจรักษาอย่างมีข้อมูล สมาคม ISTH ได้จัดตั้งคณะกรรมการสหสาขาวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยแพทย์และผู้แทนผู้ป่วยที่มีตัวแทนจากทั่วโลก และให้มีความสมดุลเพื่อลดอคติความเอนเอียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คณะกรรมการที่มีความหลากหลายนี้ได้จัดลำดับคำถามทางคลินิกและผลลัพธ์ที่สำคัญต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย
คำแนะนำต่าง ๆ ได้รับการวิเคราะห์อย่างเข้มงวด รวมถึงความคิดเห็นจากสาธารณะ เพื่อให้มั่นใจถึงความครอบคลุม ความโปร่งใส และการเปิดกว้างรวมทุกกลุ่ม
สิ่งสำคัญที่ได้ คือชุดคำแนะนำ 13 ข้อที่จัดการเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการให้การดูแลโรคฮีโมฟีเลียเอและบี นอกจากนี้ยังให้คำอธิบายอย่างครอบคลุมที่จะให้บริบทและการแนะแนวเพิ่มเติมเพื่อการตีความและการนำไปใช้
ในจำนวนคำแนะนำเหล่านี้ มีส่วนที่ให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นกับการรักษาเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาแบบเป็นครั้งคราวสำหรับกรณีโรคฮีโมฟีเลียเอและบีระดับรุนแรงและรุนแรงปานกลาง โดยเน้นให้เห็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของเวชปฏิบัติ
แนวทางใหม่นี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าในภูมิทัศน์การรักษาโรคฮีโมฟีเลียที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยความตระหนักว่าโรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคที่พบได้ยากและซับซ้อนซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายในการพัฒนาและการนำแนวทางปฏิบัติมาใช้ ทั้งยังแสดงให้เห็นและเน้นถึงความสำคัญของการให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมและตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้การรักษา นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังระบุถึงช่องว่างที่สำคัญในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และระบุลำดับความสำคัญของการวิจัยที่จำเป็น
“เนื่องจากการจัดการโรคฮีโมฟีเลียที่มีความซับซ้อน แนวปฏิบัติของเราจึงให้ความชัดเจนและแนวทางในการตัดสินใจรักษาด้วยข้อมูลเชิงลึกแบบอิงหลักฐาน แต่ก็ยังเน้นถึงความสำคัญของการตัดสินใจรักษาที่สอดคล้องกับความเสี่ยง ค่านิยม และความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย” ดร.นพ. Suely M. Rezende ประธานคณะกรรมการแนวทางการรักษาโรคฮีโมฟีเลียของ ISTH กล่าว “ความพยายามร่วมกันของเราให้แผนโรดแมปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย ซึ่งสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่แนวทางการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย”
ทั้งนี้ เพื่อให้บริบทที่สำคัญ ยังได้มีการเผยแพร่ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ควบคู่ไปกับแนวทางนี้เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตีความและการนำไปใช้ โดยข้อคิดเห็นเหล่านี้ที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำยังได้กล่าวถึงความท้าทายสำหรับแนวทางเวชปฏิบัติและนโยบาย พูดคุยเกี่ยวกับจุดแข็งและข้อจำกัดของวิธีการ GRADE สำหรับโรคที่พบได้ยาก ร่วมแบ่งปันว่าข้อมูลจากการสังเกตสามารถมอบข้อมูลมีค่าอย่างสูงเพิ่มเติมได้อย่างไร เมื่อไม่มีข้อมูลจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และกล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของแนวทางนี้
เมื่อพิจารณาว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีข้อมูลใหม่ที่มีคุณภาพในภูมิทัศน์การรักษาโรคฮีโมฟีเลียซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ทำให้แพทย์และผู้ป่วยจะมีทางเลือกในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต ISTH ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการวิจัยเกี่ยวกับโรคฮีโมฟีเลียให้ก้าวหน้า และปรับปรุงชีวิตของผู้ที่มีภาวะฮีโมฟีเลียให้ดีขึ้นได้ในที่สุด
คาดว่าการปรับปรุงข้อมูลแนวทางในอนาคตจะครอบคลุมการรักษาที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การใช้แฟคเตอร์ VIII แบบใหม่ที่มีความทนทานสูง และการรักษาแบบนอนแฟคเตอร์ (non-factor) และการบำบัดด้วยยีนแบบใหม่ ISTH มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมและปรับปรุงผลลัพธ์ให้แก่ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียทั่วโลก ด้วยการปรับปรุงข้อมุลให้ทันสมัยและเสริมแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสมาคมจะเปิดโอกาสให้กับการทำงานและการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถมอบ เผยแพร่ และนำแนวทางเวชปฏิบัติที่ดีที่สุดและความก้าวหน้าล่าสุดต่าง ๆ ไปดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชนผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียทั่วโลกได้ในที่สุด
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และอ่านแนวทางฉบับเต็มรวมทั้งข้อแนะนำทั้งสามฉบับ โปรดเยี่ยมชม https://www.isth.org/page/hemophiliaguideline
เกี่ยวกับสมาคมนานาชาติว่าด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (ISTH)
ISTH ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำระดับโลกที่อุทิศให้กับการพัฒนาให้เกิดความเข้าใจ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด ISTH เป็นองค์กรสมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ที่มีสมาชิกมากกว่า 7,000 คน ประกอบด้วยแพทย์ นักวิจัย และนักการศึกษา ที่ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก กิจกรรมและโครงการริเริ่มที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ได้แก่ โปรแกรมการศึกษาและการสร้างมาตรฐาน การแนะแนวและแนวทางเวชปฏิบัติและในห้องปฏิบัติการ การดำเนินการค้นคว้าวิจัย การประชุมและพบปะพูดคุย สิ่งพิมพ์วิชาการที่ผ่านการตรวจทาน คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และการจัดตั้งวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) ในวันที่ 13 ตุลาคม เยี่ยมชม ISTH ทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.isth.org
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/454627/ISTH_Logo.jpg?p=medium600
Source : ISTH เผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติอิงหลักฐานเพื่อการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business Directory.