มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (20 กันยายน 2566) — ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียและแปซิฟิกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น    

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ฉบับเดือนกันยายน 2566 (Asian Development Outlook (ADO) September 2023) คาดว่าเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในภูมิภาคจะเติบโตที่ร้อยละ 4.7 ในปีนี้ ซึ่งปรับตัวลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.8 ส่วนปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตที่ร้อยละ 4.8 ตามที่เคยประมาณการไว้                                                                          

การเติบโตในภูมิภาคยังคงสดใสในช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีและการกลับมาเปิดประเทศใหม่ของจีนแม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะแผ่วลงซึ่งส่งผลต่อความต้องการส่งออก ทั้งนี้ การท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ภาคการบริการที่ปรับตัวได้ดี การโอนเงินเข้ามาสู่ภูมิภาค และสถานะการเงินที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ดี ในขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลงในทุกเศรษฐกิจหลังจากขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่อ่อนแอลงทำให้แนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคไม่สดใสเท่าที่ควร ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลกทำให้เสถียรภาพทางการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น  นอกจากนั้น อุปทานที่ได้รับผลกระทบเป็นช่วงๆ จากการบุกยูเครนที่ยืดเยื้อโดยรัสเซีย ข้อจำกัดในการส่งออก ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภัยแล้งและน้ำท่วมเนื่องจากเอลนีโญ (El Niño) อาจทำให้ราคาอาหารปรับตัวขึ้นอีกครั้ง และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร 

“ประเทศเอเชียกำลังพัฒนายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลง” นายอัลเบิร์ต ปาร์ค นักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี กล่าว “ธนาคารกลางบางประเทศเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นต้องระแวดระวังต่อความท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคต้องเผชิญ เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่อ่อนแอลงและยังคงน่าเป็นห่วง สภาพอากาศสุดโต่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากเอลนีโญ เหล่านี้เตือนพวกเราว่าเศรษฐกิจต่างๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ รวมทั้งสามารถปกป้องกลุ่มเปราะบางมากที่สุดได้ด้วย”  

อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ในปีนี้ ซึ่งลดต่ำลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.2 โดยสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อของจีนที่ปรับตัวลดลง กอรปกับราคาอาหารและพลังงานอยู่ในภาวะคงที่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 

ส่วนอนุภูมิภาคต่างๆ เอดีบีได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงอยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นที่ร้อยละ 4.7 เนื่องจากความต้องการส่งออกลดต่ำลง ส่วนเศรษฐกิจเอเชียใต้คาดว่าจะลดต่ำลง 0.1 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 แม้ว่ายังคงเป็นอนุภูมิภาคที่เติบโตได้ดีสุดจากการลงทุนและการบริโภคที่แข็งแกร่ง สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเอเชียตะวันออกคาดว่าจะปรับลดลงจากร้อยละ 4.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในปีนี้ โดยคาดว่าจีนจะเติบโตที่ร้อยละ 4.9 ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจของคอเคซัสและเอเชียกลางรวมทั้งแปซิฟิกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน 

สำหรับเศรษฐกิจไทย เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งปรับขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 คือการส่งออกสินค้าที่อ่อนแอจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 3.7 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 2.9 ตามราคาพลังงานที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปีเป็นหลัก สำหรับ 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ส่วนความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจากปัจจัยภายนอกได้แก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นไปตามคาด ในขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในเดือนสิงหาคมลดความเสี่ยงในประเทศที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจลง 

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค 

Sign In

Register

Reset Password

Please enter your username or email address, you will receive a link to create a new password via email.